การสัมมนาวิชาการ “เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ ในการแก้ปัญหาภาวะวิกฤตโลกเดือด และศัตรูพืชอุบัติใหม่”
เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2567 ดร. บุญญานาถ นาถวงษ์ (นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย) ร่วมการสัมมนาวิชาการ “เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ ในการแก้ปัญหาภาวะวิกฤตโลกเดือด และศัตรูพืชอุบัติใหม่” และได้ร่วมการเสวนา เรื่อง โอกาสและความท้าทายของการปรับปรุงพันธุ์พืชด้วยเทคโนโลยี Gene Editing เพื่อความมั่นคงของเศรษฐกิจการเกษตรไทย ในภาวะโลกเดือด
การสัมมนาฯ ดังกล่าวจัดโดยสำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร โดยมีนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวรายงาน และ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ภายในงาน โดยได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนสมาคมฯ นักวิชาการ จากภาคส่วนต่าง ๆ มาร่วมสัมมนา ระดมความคิด แนวทางการดำเนินงานขับเคลื่อนเทคโนโลยี และความรู้ทางวิชาการสมัยใหม่ เพื่อรองรับภาวะโลกเดือดของโลกที่กำลังจะมาถึง ณ ห้องประชุมกองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตร
การจัดประชุมสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ เพื่อระดมความคิดของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัย ให้ทัดเทียมนานาประเทศ และจัดทำแนวทางการดำเนินงานขับเคลื่อนเทคโนโลยี Gene Editing (GEd) ของประเทศไทย เพื่อสื่อสารกับประชาชนและผู้บริโภค ให้เป็นที่เข้าใจว่าเทคโนโลยี GEd ไม่จัดว่าเป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือ GMOs และมีความปลอดภัยสูง รวมถึงสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี GEd ในประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมรองรับภาวะวิกฤตโลกเดือดและศัตรูพืชอุบัติใหม่
เทคโนโลยี GEd ได้รับการยอมรับและสนับสนุนจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO), OECD มี 13 ประเทศประกาศสนับสนุนในที่ประชุม WTO ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี GEd เชิงการค้าและการบริโภคร่วมกัน และกว่า 40 ประเทศทั่วโลก อาทิ แคนาดา อเมริกา บราซิล อาร์เจนตินา ชิลี ญี่ปุ่น จีน อังกฤษ ฟิลิปปินส์ เคนยา รัสเซีย และออสเตรเลีย ประกาศใช้นโยบาย no transgene = not GMOs โดยถือว่าพืช GEd มีความปลอดภัยเช่นเดียวกับพืชปกติทั่วไป ที่สำคัญองค์กรนานาชาติ และประเทศต่างๆ เร่งลงทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี GEd เพื่อรองรับวิกฤตการณ์ความมั่นคงทางอาหารของโลก
Post Views: 50